วันพุธที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

บ้านสไตล์รีสอร์ทสวย ๆ


โดยทั่วไปแล้ว บ้าน ที่อยู่อาศัยของเรานั้นมักจะมีขนาดตั้งแต่ 1-2 ชั้นขึ้นไปน่ะนะคะ ซึ่งบ้านที่มี 1 หรือ 2 ชั้นนั้น ก็มีข้อดีข้อด้อยแตกต่างกันไป อีกทั้งก็ขึ้นอยู่กับลักษณะที่ดิน,ความต้องการในการใช้่พื้นที่,ความชื่นชอบส่วนบุคคลของเจ้าของบ้านแต่ละหลังอีกด้วย

บ้านสไตล์รีอสร์ท ก็เช่นกันค่ะ แม้ว่าบ้านสไตล์นี้จะสามารถก่อสร้างได้หลายรูปแบบหลากหลายสไตล์ ไม่ว่าจะเป็นบ้านสไตล์รีสอร์ทแบบบาหลี บ้านสไตล์รีสอร์ทแบบไทยประยุกต์ บ้านสไตล์รีสอร์ทรูปทรงโมเดิร์น หรือบ้านสไตล์รีสอร์ทแบบอื่น ๆ แต่เราก็สามารถกำหนดได้เช่นกัน ว่าต้องการบ้านสไตล์รีสอร์ทที่มีลักษณะกี่ชั้น และแต่ละชั้นสามารถแบ่งพื้นที่การใช้งานอย่างไรบ้าง

บล็อกบ้านสไตล์รีสอร์ทในตอนนี้จะขอนำเพื่อน ๆ มาชมแบบบ้านสไตล์รีสอร์ททั้งแบบชั้นเดียวและสองชั้นสวย ๆ กันค่ะ เรามาดูบ้านสไตล์รีสอร์ทหลายแบบหลากสไตล์เพื่อใช้เป็นไอเดียในการสร้างหรือตกแต่งบ้านของเรากันนะคะ
















ภาพประกอบจาก อินเตอร์เน็ต

วันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ห้องต่าง ๆ ภายในตัวบ้าน


บ้าน หนึ่งหลังนั้น มักจะประกอบไปด้วยพื้นที่ใช้งานหลายส่วนหลายหน้าที่ด้วยกันค่ะ โดยปกติแล้วการแบ่งพื้นที่ของตัวบ้านมักจะแบ่งด้วยการกั้นพื้นที่ห้องด้วยผนัง เพื่อให้การใช้งานห้องดังกล่าวมีความชัดเจน เป็นส่วนตัว และไม่รบกวนผู้ที่ใช้งานพื้นที่อื่น ๆ ภายในตัวบ้าน ซึ่งการแบ่งจำนวนห้องภายในบ้านแต่ละหลัง ก็ขึ้นอยู่กับความประสงค์ของเจ้าของบ้านว่าต้องการแบ่งพื้นที่บ้านออกเป็นกี่ห้อง


โดยทั่วไปแล้ว บ้าน หนึ่งหลังจะประกอบไปด้วยห้องต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่ต่างกันไปดัีงต่อไปนี้น่ะนะคะ
  1. ห้องรับแขก ห้องรับแขกนั้นทำหน้าที่เป็นสถานที่ต้อนรับแขกเหรื่อที่มาเยี่ยมเยียนบ้านของเราค่ะ 
  2. ห้องนั่งเล่น ห้องนั่งเล่นนั้นทำหน้าที่เป็นห้องที่ให้การสันทนาการหรือความผ่อนคลายให้กับสมาชิกภายในบ้าน 
  3. ห้องนอน ห้องนอนคือห้องพักผ่อนของสมาชิกภายในครอบครัวแต่ละคน
  4. ห้องครัว คือ ห้องที่ใช้ประกอบอาหารสำหรับสมาชิกภายในครอบครัว
  5. ห้องรับประทานอาหาร หลาย ๆ บ้านมีการจัดห้องสำหรับรับประทานอาหารแยกไว้ต่างหากจากห้องครัว เืพื่อป้องกันกลิ่นต่าง ๆ จากห้องครัวรบกวนการรับประทานอาหาร
  6. ห้องน้ำ 
  7. ห้องเก็บของ
นอกจากนี้แล้ว หากพื้นที่ภายในบ้านมากพอ ก็อาจมีการจัดสรรห้องต่าง ๆ เพิ่มเติมขึ้นมาตามความต้องการของเจ้าของบ้านได้ อาทิเช่น ห้องออกกำลังกาย,ห้องโฮม เธียเตอร์ เป็นต้น

ในตอนหน้าของบล็อกบ้านสไตล์รีสอร์ท เราจะมาดูแบบบ้านสไตล์รีสอร์ทสวย ๆ กันนะคะ



ภาพประกอบจาก homeklondike.com/2012/09/03/banyan-tree-ungasan-resort-in-bali/9-banyan-tree-ungasan-resort-in-bali/

วันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

โครงสร้างบ้าน ตอน โครงสร้างบนดิน


บล็อก บ้านสไตล์รีสอร์ท ได้เขียนถึงความสำคัญของโครงสร้างอาคารกันไปในตอนที่แล้วแล้วนะคะ ว่าโครงสร้างมีความสำคัญกับการรับน้ำหนักและการยึดตัวอาคารบ้านเรือนให้มีความมั่นคงถาวร และเราสามารถแบ่งประเภทของโครงสร้างออกได้เป็น 2 ชนิดด้วยกัน นั่นก็คือ โครงสร้างใต้ดิน อันได้แก่ ตอม่อและฐานราก และโครงสร้างบนดิน ซึ่งจะได้อธิบายแต่ละส่วนประกอบให้เพื่อน ๆ ทุกท่านได้ทราบพอคร่าว ๆ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการสร้างบ้านอย่างเข้าใจได้มากขึ้นค่ะ


สำหรับโครงสร้างบนดินก็ได้แก่ส่วนประกอบต่าง ๆ ที่่ประกอบและยึดเหนี่ยวกันเป็นตัวอาคาร ซึ่งส่วนประกอบที่เป็นโครงสร้างบนดินนี้ นอกจากจะต้องเลือกสรรให้มีความเหมาะสมทั้งในด้านของความแข็งแรงแล้ว ก็ยังจะต้องมีความสวยงามและเหมาะแก่การใช้งานรวมไปถึงการอยู่อาศัยของผู้เป็นเจ้าของบ้านอีกด้วย ส่วนประกอบหลัก ๆ ของโครงสร้างอาคารที่อยู่บนพื้นดินได้แก่
  1. เ่สา เสานั้นทำหน้าที่ในการรับและถ่ายน้ำหนักตัวอาคารลงสู่ฐานรากค่ะ รวมถึงเป็นส่วนประกอบที่จะติดต่อกับส่วนอื่น ๆ ของตัวอาคารเช่นกัน ดังนั้นเสาจึงเป็นส่วนสำคัญอันดับต้น ๆ ที่จะต้องมีการวางตำแหน่งให้ถูกต้อง และจะต้องคำนึงถึงวัสดุที่จะนำมาทำเสาด้วยเช่นกัน
  2. พื้นบ้าน พื้นบ้านทำหน้าที่รับน้ำหนักของการอยู่อาศัย เพื่อถ่ายน้ำหนักลงสู่เสาและฐานราก
  3. ตง ทำหน้าที่รับน้ำหนักให้คาน
  4. คาน ทำหน้าที่รับน้ำหนักจากตงเพื่อถ่ายลงสู่เสา โดยจะเป็นส่วนที่ติดกับเสา 
  5. หลังคา ทำหน้าที่กันแดด กันฝนให้กับโครงสร้างอาคาร 
  6. ผนัง ทำหน้าที่แบ่งพื้นที่ใช้สอยในแต่ละส่วนของบ้าน โดยจะก่อสร้างในลักษณะแนวตั้ง ยึดอยู่ระหว่างคานบนหลังคาและคานบนพื้น
  7. หน้าต่าง ประตู
  8. บันได
จะเห็นได้ว่าส่วนประกอบของบ้านที่เป็นโครงสร้างหลัก ๆ จะเหมือนกันในบ้านเกือบทุกหลังน่ะนะคะ ดังนั้นผู้ที่ทำการก่อสร้างหรือเจ้าของบ้านเอง ก็ควรจะใส่ใจในรายละเอียดของการก่อสร้างทุกขั้นตอน เพื่อให้โครงสร้างและส่วนประกอบแต่ละอย่างของบ้านมีความมั่นคง สวยงามและแข็งแรง อีกทั้งปลอดภัยสำหรับผู้อยู่อาศัย ในตอนหน้าของบล็อกบ้านสไตล์รีสอร์ท เราจะมาทำความรู้จักกับห้องต่าง ๆ ภายในบ้านด้วยกันค่ะ แล้วกลับมาพบกันได้ใหม่ในครั้งหน้านะคะ



ภาพประกอบจาก kaekaistyleshop.tarad.com/product.detail_794869_th_2370974

วันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

โครงสร้างบ้าน ตอน โครงสร้างใต้ดิน


โครงสร้างของบ้านหรืออาคาร โดยทั่ว ๆ ไปนั้น จะแบ่งออกได้เป็นสองชนิดด้วยกันค่ะ คือโครงสร้างในส่วนใต้ดิน และโครงสร้างบนดิน 


โครงสร้างใต้ดิน ก็คือโครงสร้างที่อยู่ต่ำกว่าพื้นดินลงไปค่ะ ส่วนนี้คือส่วนที่จะช่วยยึดเกาะอาคารและรับน้ำหนักของตัวอาคารเพื่อกระจายลงสู่พื้นดิน ซึ่งส่วนต่าง ๆ ของโครงสร้างใต้ดินก็ได้แก่ตอม่อและฐานราก ซึ่งในส่วนของตอม่อ ก็คือเสาที่ต่อจากพื้นชั้นล่างลงไปในดินลงสู่ฐานราก ทำหน้าที่รับน้ำหนักจากเสาบ้านเพื่อถ่ายเทลงสู่ฐานราก และในส่วนของฐานราก ก็คือส่วนที่รับน้ำหนักจากตอม่อมาอีกทอดหนึ่ง เพื่อถ่ายเทลงสู่ดินหรือเสาเข็ม ซึ่งฐานรากนี้ก็ยังสามารถแบ่งออกได้อีกสองชนิด ได้แก่
  1. ฐานรากแผ่ เป็นฐานรากแบบตื้น ๆ รับน้ำหนักไม่มาก ส่วนใหญ่จะใช้ในกรณีที่พื้นดินมีคุณสมบัติรับน้ำหนักได้สูง
  2. ฐานรากเข็ม เป็นฐานรากที่นิยมใช้กันทั่วไป สามารถรับน้ำหนักของตัวอาคารได้มาก ซึ่งฐานรากแบบนี้จะมีเสาเข็มซึ่งจะเป็นตัวช่วยรับน้ำหนักของตัวอาคารได้ดี ซึ่งการจะใช้เสาเข็มขนาดสั้น-ยาวเท่าไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับขนาดและน้ำหนักของโครงสร้างหรือตัวอาคารด้วยน่ะนะคะ
ในตอนหน้าของบล็อกบ้านสไตล์รีสอร์ท เราจะมาดูโครงสร้างบ้านที่อยู่บนดินกันบ้างค่ะ แล้วกลับมาพบกันได้ใหม่ในครั้งหน้านะคะ


ภาพประกอบจาก oknation.net/blog/print.php?id=731944

รู้จักกับส่วนต่าง ๆ ของบ้าน


บ้าน ก็คือที่อยู่อาศัยที่เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่อันเป็นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์เราน่ะนะคะ บ้านถือเป็นสถาปัตยกรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งจำเป็นต้องมีโครงสร้างเป็นส่วนประกอบ ซึ่งโครงสร้างนั้นจะเป็นส่วนที่จะยึดเกาะให้บ้านหรืออาคารหลังนั้น ๆ มีความมั่นคงปลอดภัย ดังนั้นก่อนที่เราจะไปรับชมความสวยงามน่าสนใจของแบบบ้านสไตล์รีสอร์ทแบบต่าง ๆ เราจะมาทำความรู้จักในส่วนของโครงสร้างบ้าน เพื่อใช้เป็นความรู้เมื่อยามที่เราลงมือก่อสร้างบ้านของเราเองกันก่อนนะคะ


โครงสร้างบ้านนั้น สามารถจำแนกได้ 3 ประเภทใหญ่ ๆ ด้วยกันค่ะ และสามารถนำทั้ง 3 ประเภทนั้น มาใช้เป็นส่วนประกอบของโครงสร้่างได้ตามความเหมาะสมและการใช้งาน ได้แก่
  1. ไม้ โครงสร้างบ้านชนิดนี้เป็นที่นิยมใช้กันมาอย่างยาวนานค่ะ เนื่องจากไม้นั้นมีความยืดหยุ่นสูง น้ำหนักไม่มาก ทนแดดทนฝน แข็งแรงทนทานในระดับหนึ่ง ส่วนใหญ่แล้วไม้ที่นำมาทำเป็นโครงสร้าง มักจะเป็นไม้เนื้อแข็ง อาทิเช่น ไม้เต็ง รัง มะค่า ไม้แดง ไม้ประดู่ เป็นต้น ส่่วนไม้เนื้ออ่อนก็มักจะนำมาใช้ในการทำโครงสร้างที่ไม่ต้องรับน้ำหนักมากนัก
  2. เหล็ก โครงสร้างที่เป็นเหล็ก คือโครงสร้างที่มีความแข็งแรงทนทานสูงค่ะ แต่มักมีราคาแพงและน้ำหนักมาก เมื่อมีการเชื่อมอย่างถูกต้องก็จะให้ความยืดหยุ่นและทนแรงดึงได้สูงเช่นกัน
  3. คอนกรีตเสริมเหล็ก หรือที่เราเรียกกันว่า ค.ส.ล. โครงสร้างประเภทนี้จะรับน้ำหนักได้มาก ทนน้ำทนไฟ ทนแรงกดได้ดี สามารถขึ้นรูปและปรับแต่งตามต้องการ แต่จะมีปัญหาเรื่องการหล่อและแตกร้าว เหล็กที่เสริมในคอนกรีต ทำหน้าที่ยึดให้คอนกรีตเกาะตัว และรับแรงกดร่วมกับคอนกรีต แต่แน่นอนกว่าก็จะทำให้น้ำหนักของโครงสร้างเพิ่มมากขึ้นน่ะนะคะ
นอกจากนี้แล้วปัจจุบันยังมีการนำวัสดุอื่น ๆ มาใช้ร่วมกับวัสดุข้างต้นเพื่อใช้เป็นโครงสร้างได้อีกค่ะ เช่น อะลูมิเนียม หรือสารสังเคราะห์อื่น ๆ แต่หน้าที่หลัก ๆ ของโครงสร้างก็คือ เพื่อให้สิ่งปลูกสร้างมีความมั่นคง เป็นส่วนที่ช่วยถ่ายเทน้ำหนักจากตัวอาคารลงสู่พื้นดิน ซึ่งก็จะมีเสาและคานเพื่อเป็นตัวถ่ายเทน้ำหนักต่าง ๆ เหล่านั้นนั่นเอง

ในตอนหน้าของบล็อกบ้านสไตล์รีสอร์ท เราจะมาทำความรู้จักกับโครงสร้างต่าง ๆ ของบ้านเพิ่มเติมกันอีกตอนหนึ่งนะคะ


ภาพประกอบจาก cm2property.com/property/show/6634

สัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง


หลังจากตกลงใจเลือก ผู้รับเหมา เพื่อมารับผิดชอบงาน ก่อสร้างบ้าน ของเราเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนของการทำ สัญญาจ้างเหมา เพื่อทำการก่อสร้างกันบ้างค่ะ สัญญาจ้างเหมาเพื่อทำการก่อสร้างบ้านนั้นก็จะมีลักษณะคล้ายคลึงกับสัญญาจ้างทำของ นั่นก็คือจะเป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้าง เพื่อกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยมีค่าตอบแทนตามที่ตกลงกันไว้ และทั้งสองฝ่ายได้ทำสัญญาระหว่างกันขึ้น เพื่อยืนยันข้อตกลงนั้น โดยมีผลทางกฎหมาย เพื่อประกันคำสัญญาว่าจะมีการชำระค่าจ้างและมีการทำงานตามที่ทั้งสองฝ่ายตกลง และหากมีการผิดสัญญาก็จะมีบทลงโทษที่สามารถนำไปฟ้องร้องเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากศาล เพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำอันผิดสัญญาของคู่สัญญาดังกล่าว


สัญญาจ้างเหมาก่อสร้างนั้น ไม่ว่าจะทำขึ้นระหว่างผู้ว่าจ้างกับผู้รับเหมาอิสระหรือบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างก็ตาม ก็จะมีรายละเอียดในสัญญาไม่แตกต่างกันมากนักค่ะ นั่นคือเป็นการร่างสัญญาเพื่อทำการแบ่งงวดเงินที่ทางผู้ว่าจ้างจะำทำการจ่าย ตามงวดงานที่แล้วเสร็จของผู้รับจ้าง

เรามาดูแบบฟอร์มของสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างกันนะคะ

สัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง




อ้่างอิงแบบฟอร์มสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างจาก lawheal.com
ภาพประกอบจาก kenlauher.com/feng-shui-tips/bid/58446/Feng-Shui-Home-Building-5-Mistakes-To-Avoid

วันพุธที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

จ้างสร้างบ้านเหมาค่าแรงและวัสดุ หรือจ้างเฉพาะค่าแรงดี


เมื่อผ่านขั้นตอนของการขออนุญาตก่อสร้างเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็จะเป็นการเฟ้นหาผู้ที่จะมารับผิดชอบในขั้นตอนของการก่อสร้างบ้านของเรากันน่ะนะคะ ซึ่งในขั้นตอนนี้ถือว่าเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญขั้นตอนหนึ่งเลยทีเดียว เนื่องจากปัจจุบันมีผู้รับเหมาจำนวนมากมายที่ทั้งมีฝีมือและไม่มีฝีมือ มีความรับผิดชอบ และไม่มีความรับผิดชอบ คละเคล้าปะปนกันไป การจะหาผู้รับเหมาที่มีคุณภาพ พร้อมทั้งฝีมือและความรับผิดชอบจึงเป็นเรื่องที่เจ้าของบ้านอาจจะต้องมีความละเอียดและใส่ใจในการค้นหา เพื่อให้งานก่อสร้างของเรานั้นดำเนินไปด้วยดี และได้ผลงานที่พึงพอใจในที่สุด


การว่าจ้างผู้รับเหมาเพื่อทำงานก่อสร้างบ้านของเรานั้น สามารถเลือกจัดจ้างได้สองแบบด้วยกันค่ะ นั่นก็คือ การว่าจ้างเหมา ทั้งการจัดหาวัสดุและแรงงาน และการจัดจ้างเฉพาะแรงงานโดยเราเป็นผู้จัดหาวัสดุเอง ซึ่งทั้งสองแบบนี้ ก็มีข้อดีข้อด้อยแตกต่างกัน เราจะมาดูข้อเปรียบเทียบคร่าว ๆ ของงานทั้งสองแบบนี้นะคะ

สำหรับผู้ทีต้องการจัดจ้างผู้รับเหมาเพื่อให้ทำการก่อสร้างบ้าน โดยเป็นการเหมาทั้งค่าแรงและวัสดุ นั้น มีข้อดีก็คือ เจ้าของบ้านจะตัดปัญหาเรื่องความยุ่งยากในการจัดหา จัดซื้อ หรือจัดเตรียมวัสดุต่าง ๆ เข้าหน้างานก่อสร้างเองค่ะ อีกทั้งวัสดุและอุปกรณ์ที่ทำการจัดเตรียมเข้าหน้างานนั้น เป็นวัสดุของทางผู้รับเหมาเอง ดังนั้นผู้รับเหมาจึงเป็นฝ่ายที่รับผิดชอบในกรณีที่วัสดุอุปกรณ์ที่สั่งเข้าหน้างานสั่งมาขาดหรือเกินจากความต้องการ เป็นการตัดปัญหาวัสดุเหลือใช้ และตัดปัญหาการใช้วัสดุแบบทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ ข้อด้อยสำหรับการจัดจ้างประเภทเหมาทั้งค่าแรงและวัสดุก็คือ การที่เจ้าของบ้านจะต้องละเอียดรอบคอบในการตรวจสอบวัสดุที่ผู้รับเหมาจัดหามาให้ได้ตรงตามสเป็คและมาตรฐานที่กำหนดไว้ในแบบแปลน เพื่อไม่ให้ผู้รับเหมาย้อมแมววัสดุ จัดหาวัีสดุที่มีคุณภาพด้อยกว่าที่กำหนดเข้าหน้างาน อาทิเช่น ขนาดเหล็ก,ประเภทของประตู-หน้าต่าง,ลูกบิดประตู,ยี่ห้อของกระเบื้อง เป็นต้น ดังนั้นจึงจะเห็นว่าวิธีนี้ เหมาะสำหรับเจ้าของบ้านที่ไม่มีเวลาในการจัดซื้อวัสดุเอง และไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างให้ต่างไปจากแบบแปลน เจ้าของบ้านจึงมีหน้าที่ควบคุมคุณภาพของวัสดุและการก่อสร้างให้เป็นไปตามแบบแปลนและตามสัญญาว่าจ้างเท่านั้น


มาดูข้อดีข้อด้อยของการจัดจ้างชนิดจ้างเหมาเฉพาะค่าแรงกันบ้างค่ะ วิธีนี้จะเหมาะสำหรับเจ้าของบ้านที่มีเวลาในการควบคุมดูแลการก่อสร้างค่อนข้างมาก และต้องการเปลี่ยนแปลงวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างที่มีคุณภาพแตกต่างไปจากในแบบแปลนบ้างเป็นบางรายการ (เป็นบางรายการที่ไม่เกี่ยวกับงานโครงสร้างค่ะ) อีกทั้งเป็นการตัดปัญหาการคดโกงคุณภาพของวัสดุอุปกรณ์ของผู้รับเหมาบางราย ที่ต้องการประหยัดงบประมาณของตนเอง โดยการเปลี่ยนวัสดุที่มีคุณภาพต่ำมาให้เจ้าของบ้าน อีกทั้งเจ้าของบ้านยังสามารถดัดแปลงรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ โดยที่ไม่กระทบกับโครงสร้างภายในบ้านได้ตามใจชอบ แต่ก็มีข้อเสียเช่นกัน อาทิเช่น ส่วนใหญ่แล้วเจ้าของบ้านมักจะไม่สามารถคำนวนจำนวนการใช้งานของวัสดุอุปกรณ์ได้เช่นเดียวกับผู้รับเหมา ดังนั้น การสั่งวัสดุอุปกรณ์ก็มักจะสั่งมาเกินความต้องการเสมอ (ช่างส่วนใหญ่จะสั่งวัสดุเข้าหน้างานให้เหลือใช้ไว้ก่อน หากรับเหมาะเฉพาะค่าแรงงาน) ทำให้งบประมาณในการก่อสร้างบานปลายกว่าการจัดจ้างทั้งค่าวัสดุและค่าแรง ซึ่งควบคุมงบได้ตรงตามสัญญาว่าจ้างได้ดีกว่า อีกทั้งยังมีความยุ่งยากในการจัดซื้อจัดหาวัสดุตามที่ต้องการมากกว่าน่ะนะคะ

ในตอนหน้าของบล็อกบ้านไสตล์รีสอร์ท เราจะมาดูตัวอย่างของสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างกันค่ะ



ภาพประกอบจาก cm2property.com/property/show/6634
rumruay.com/id-50d053270b8564e557000431.html


วันอังคารที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

หาผู้รับเหมาสร้างบ้าน


เมื่อเราได้แบบแปลนบ้านที่ถูกใจ และดำเนินการยื่ืนขออนุญาตก่อสร้างบ้านตามแบบแปลนนั้นในที่ดินของเราเองแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนสำคัญอีกขั้นตอนหนึ่ง นั่นก็คือขั้นตอนของการ หาผู้รับเหมา ที่จะมารับผิดชอบในการ สร้างบ้าน ในฝันของเราให้ออกมาเป็นรูปเป็นร่างได้อย่างที่ตั้งใจน่ะนะคะ

สำหรับขั้นตอนนี้ถือว่าเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าขั้นตอนอื่น ๆ เนื่องจากเจ้าของบ้านหลายรายมักจะประสบปัญหาเกี่ยวกับการเฟ้นหาผู้รับเหมาก่อสร้างที่ไว้ใจได้ ในราคาค่าจัดจ้างที่เราพอใจ อีกทั้งหลายต่อหลายรายอาจจะต้องเจอกับปัญหาที่ผู้รับเหมาที่เราจัดจ้างมาแล้วนั้น ดำเนินการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญา หรืออาจจะแล้วเสร็จแต่ก็ืทิ้งปัญหาสารพันไว้ให้ตามแก้ไขในภายหลังอีกมากมายหลายอย่าง

สำหรับบล็อก บ้านสไตล์รีสอร์ท ในตอนนี้จะมาแนะนำ วิธีพิจารณาหาผู้รับเหมาก่อสร้างที่จะมารับสร้างบ้านของเรากันค่ะ เราลองมาดูคุณสมบัติและขั้นตอนการเลือกผู้รับเหมาก่อสร้างที่ดีกันนะคะ ว่ามีวิธีการพิจารณาอย่างไรบ้าง


ก่อนทำการว่าจ้างผู้รับเหมารายใดรายหนึ่ง อันดับแรก เราควรต้องพบเห็น หรือได้สัมผัสผลงานการก่อสร้างของผู้รับเหมารายนั้นก่อนค่ะ อาจจะด้วยการเยี่ยมชมหน้างานก่อสร้าง หรือผลงานก่อสร้างของผู้รับเหมารายนั้นเอง การสอบถามจากเจ้าของงานเดิมที่เคยว่าจ้างผู้รับเหมารายนั้น ๆ ว่ามีการทำงานถูกต้องเป็นที่น่าพอใจหรือไม่อย่างไร หรือหากเป็นบริษัทรับสร้างบ้าน ก็ควรดูว่าเป็นบริษัทที่มีผลงานมากน้อยเพียงไร มีความมั่นคงน่าเชื่อถือหรือไม่  มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง มีประสบการณ์ในการรับงานมามากน้อยเพียงไร (ควรมีประสบการณ์มากกว่า 3 ปี) มีช่างเทคนิค,วิศวกรผู้คุมงาน ผู้มีความรู้ความสามารถ เพื่อควบคุมดูแลการก่อสร้างตลอดระยะเวลาการทำงานหรือไม่ (ควรขอดูใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรมโยธา หรือที่เราเรียกกันว่า ใบ กว.)

นอกจากนี้แล้วผู้รับเหมาที่เราต้องการจัดจ้างจะต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือสำหรับงานก่อสร้างที่ำจำเป็นเพื่อใช้งานมากเพียงพอ มีรายละเอียดในสัญญาจัดจ้างที่เป็นธรรม มีเครดิตที่ดีหรือมีชื่อเสียงที่ดีกับร้านค้าวัสดุก่อสร้าง (ควรสอบถามร้านค้าวัสดุในพื้นที่ที่ผู้รับจ้างใช้บริการอยู่เพื่อประกอบการตัดสินใจ) เพื่อให้งานก่อสร้างดำเนินไปอย่างเรียบร้อย เสร็จสิ้นเป็นที่น่าพอใจ และป้องกันการทิ้งงานหรือการคดโกงกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งสำหรับสัญญาจ้างผู้รับเหมาก่อสร้างบ้านนั้น บล็อกบ้านสไตล์รีสอร์ฺทจะได้นำมาเสนอเพือใช้เป็นแนวทางในตอนต่อไปนะคะ





ภาพประกอบจาก floralpark.olx.com/home-engineer-inspections-suffolk-county-ny-iid-100548538


ค่าธรรมเนียมในการขออนุญาตก่อสร้าง และบทลงโทษสำหรับผู้ไม่ขออนุญาต

มาถึง ค่าธรรมเนียมในการออกใบอนุญาตก่อสร้าง กันบ้างค่ะ ค่าธรรมเนียมในการออกใบอนุญาตก่อสร้างนั้นจะอยู่ที่ฉบับละ 20 บาท นอกจากนี้ก็ยังมีค่าธรรมเนียมใบอนุญาตดัดแปลง ฉบับละ 10 บาท,ใบอนุญาตรื้อถอน ฉบับละ 10 บาท,ใบอนุญาตเปลี่ยนการใช้ ฉบับละ 20 บาท,ใบรับรอง ฉบับละ 10 บาท และใบแทนใบอนุญาต ฉบับละ 5 บาท

ใบขออนุญาตก่อสร้าง
นอกจากมีค่าธรรมเนียมในบอนุญาตต่าง ๆ ข้างต้นแล้ว ก็ยังมีค่าธรรมเนียมการตรวจแบบแปลนก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารอีกด้วยค่ะ โดยมีการคิดค่าธรรมเนียมดังนี้

  1. อาคารไม่เกิน 2 ชั้น สูงไม่เกิน 12 เมตร ตร.ม. ละ 50 สตางค์
  2. อาคารไม่เกิน 3 ชั้น และสูงเกิน 12 เมตร แต่ไม่เกิน 15 เมตร ตร.ม. ละ 12 บาท
  3. อาคารสูงเกิน 3 ชั้น หรือสูงเกิน 15 เมตร ตร.ม. ละ 4 บาท
  4. ป้าย ตร.ม. ละ 4 บาท
จะเห็นได้ว่ากว่าจะสร้างบ้านได้สักหลังหนึ่งนั้น จะต้องมีขั้นตอนการดำเนินการหลายขั้นตอนทีเดียวนะคะ ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้เป็นเจ้าของบ้านเองและผู้อยู่อาศัย ซึ่งหากเราไม่ดำเนินการขออนุญาตให้ถูกต้องแล้ว ก็จะมีบทลงโทษสำหรับผู้ที่ก่อสร้างโดยพละการค่อนข้างหนักเลยทีเดียว โดย ผู้ใดที่ก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาจ จะถูกปรับเป็นจำนวนเงินสูงสุดถึง 60,000 บาท และจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากได้รับคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างแล้วไม่ทำตาม ก็จะต้องระวางโทษ ปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืน ซึ่งรายละเอียดปลีักย่อยต่าง ๆ ของการกำหนดบทลงโทษ ก็ยังมีสำหรับผู้ที่ไม่ขออนุญาตก่อสร้างอาคารประเภทต่าง ๆ อีกหลายบทเลยทีเดียว ดังนั้น ก่อนดำเนินการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนใด ๆ ก็ตาม ก็ควรดำเนินการขออนุญาตให้เสร็จสิ้นเรียบร้อยตั้งแต่แรก เพื่อไม่ให้เกิดความยุ่งยากในภายหลังน่ะนะคะ




อ้างอิงข้อมูลจาก nmt.or.th/pathum/thanyaburi/Lists/List56/AllItems.aspx
ภาพประกอบจาก อินเตอร์เน็ต


บ้านสไตล์รีสอร์ทกับขั้นตอนของการขอนุญาตก่อสร้าง


เมื่อเราได้แบบบ้านที่ดำเนินการเขียนโดยสถาปนิกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขั้นต่อนต่อไปที่จะต้องดำเนินการ ก็จะเป็นขั้นตอนของการ ขออนุญาตก่อสร้าง ค่ะ


สำหรับขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่เราจะต้องเกี่ยวข้องกับหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบการดูแลความปลอดภัยของการก่อสร้าง โดยเราจะมีหน้าที่ที่จะต้องนำเอาแบบแปลนที่เราต้องการก่อสร้างไปทำการดำเนินการขออนุญาตจากทางเทศบาล โดยจะต้องจัดเตรียมเอกสารต่าง ๆ ไปยื่นกับทางหน่วยงานโยธาธิการของทางเทศบาลดังนี้

  1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ขออนุญาตและเจ้าของที่ดิน อย่างละ 1 ชุด
  2. สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ขออนุญาตและเจ้าของที่ดิน อย่างละ 1 ชุด
  3. แบบก่อสร้างแผนผังและรายการประกอบแบบ อย่างละ 5 ชุด
  4. สำเนาโฉนดที่ดินที่จะทำการก่อสร้าง จำนวน 1 ชุด (หรือเอกสารสิทธิ์อื่น ๆ)
  5. สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท วัตถุประสงค์ ผู้มีอำนาจลงชื่อแทน นิติบุคคล ที่ขออนุญาตที่ออกให้ไม่เกิน 6 เดือน
นอกจากนี้แล้ว ยังต้องมีการยื่นหลักฐานที่เกี่ยวข้องเฉพาะเรื่องประกอบด้วย ได้แก่

  1. หนังสือยินยอมจากเจ้าของที่ดิน (กรณีผู้ขออนุญาตมิได้เป็นเจ้าของที่ดิน) 
  2. หนังสือยินยอมให้ปลูกสร้างอาคารชิดผนัง (กรณีใช้ผนังร่วมกัน)
  3. หนังสือยินยอมให้ปลูกสร้างอาคารชิดเขตที่ดิน (กรณีชิดเขตที่ดินข้างเคียง)
  4. หนังสือรับรองผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม พร้อมสำเนาบัตรประจำตัว(กรณที่ีอยู่ในข่ายควบคุมตาม พ.ร.บ.วิศวกรรม และพ.ร.บ.วิชาชีพสถาปัตยกรรม)
  5. รายการคำนวณ 1 ชุด (กรณีส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารก่อสร้างด้วยวัตถุถาวรและทนไฟเป็นส่วนใหญ่ หรืออาคารสาธารณะ อาคารพิเศษ)
  6. แบบระบบบำบัดน้ำเสียสำหรับบ้านพักอาศัย (ตามแบบมาตรฐานกรมโยธาธิการหรืออื่น ๆ )
  7. หนังสือแสดงว่าคณะกรรมการการควบคุมการจัดสรรที่ดินพิจารณาให้ความเห็นชอบ
  8. แผนผังโครงการจัดสรรที่ดินที่ได้รับอนุญาตแล้ว (กรณีอาคารเข้าข่ายการจัดสรรที่ดิน)
  9. เตรียมแบบและใบอนุญาตเดิมที่ได้รับจากเทศบาลตำบลธัญบุรี จำนวน 1 ชุด (กรณีดัดแปลงอาคาร, ต่อเติมหรือต่ออายุใบอนุญาต)
หลังการยื่นเอกสารต่าง ๆ ที่จำเป็นข้างต้นแล้ว ก็จะมีการพิจารณาของทางเทศบาลเพื่อให้แบบแปลนอากาคารและการก่อสร้างถูกต้องตาม พ.ร.บ.ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2479 และ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และแก้ไขเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร(ฉบับ    ที่ 2) พ.ศ. 2535 และกฎกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องค่ะ ซึ่งระยะเวลาในการพิจารณาอาคารที่พักอาศัยไม่เกิน 2 ชั้นโดยทั่วไปแล้ว จะไม่เกิน 20 วัน แล้วจึงจะมีการออกใบอนุญาตก่อสร้างให้กับผู้ยื่นคำร้องได้น่ะนะคะ

ในตอนหน้าของบล็อกบ้านสไตล์รีสอร์ท เราจะมาดูค่าธรรมเนียมในการขออนุญาตก่อสร้างกันนะคะ



อ้างอิงข้อมูลจาก nmt.or.th/pathum/thanyaburi/Lists/List56/AllItems.aspx
ภาพประกอบจาก lblapuzarchitectsandbuilders.com/

บ้านสไตล์รีสอร์ทกับขั้นตอนของการออกแบบ


เมื่อเราตกลงใจแล้วว่าอยากสร้างบ้านขึ้นมาสักหลังนึง และต้องเป็นบ้านที่มีสไตล์รีสอร์ท ที่ให้ทั้งความสะดวก สบาย สงบและผ่อนคลายแก่ผู้อยู่อาศัย ขั้นตอนแรกที่จะขาดเสียไม่ได้ก็คงจะเป็นขั้นตอนของการออกแบบน่ะนะคะ


สำหรับขั้นตอนของการออกแบบนี้ ผู้รับผิดชอบในการเขียนแบบก็จะเรียกกันว่า "สถาปนิก" ค่ะ

สถาปนิกนั้นก็คือผู้ชำนาญการอาชีพหนึ่ง ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการเขียนแบบแปลนบ้านที่จะช่วยถ่ายทอดความต้องการของผู้เป็นเจ้าของบ้านเพื่อให้ได้บ้านที่มีลักษณะทั้งรูปทรงและรายละเอียดการใช้งานของพื้นที่ต่าง ๆ ภายในบ้าน รวมไปถึงวัสดุและมาตรฐานในการก่อสร้างที่จะต้องมีเพื่อความปลอดภัยสำหรับผู้อยู่อาศัยอีกด้วย

ขั้นตอนการทำงานของสถาปนิกนั้นมีด้วย 6 ขั้นตอนค่ะ เรามาดูรายละเอียดคร่าว ๆ ของงานในขั้นตอนการออกแบบของสถาปนิกกันนะคะ

  1. ขั้นให้คำปรึกษา ขั้นตอนนี้จะเป็นการพบปะพูดคุยกันระหว่างเจ้าของบ้านและสถาปนิก เพื่อให้ทราบถึงรายละเอียดและความต้องการของเจ้าของบ้าน ซึ่งอาจจะมีการพบปะและพูดคุยกันมากกว่าหนึ่งครั้งก็ได้
  2. ขั้นวางผังและแนวความคิด สถาปนิกจะดำเนินการร่างแบบคร่าว ๆ เพื่อให้เจ้าของบ้านได้ดูแผนผังและแบบแปลนโดยรวมว่าตรงกับความต้องการหรือไม่
  3. ขั้นเขียนแบบร่างขั้นต้น จะมีการนำเอาผังและแนวความคิดที่ได้จากขั้นตอนที่สอง มาทำการเขียนลงรายละเอียดมากขึ้น โดยอาจมีการนำเสนอด้วย โมเดล หรือภาพสเก็ตเพื่อให้ลูกค้าเข้าใจแบบแปลนมากขึ้น
  4. ขั้นเขียนแบบร่างขั้นสุดท้าย เมื่อผ่านจากขั้นตอนเขียนแบบร่างขั้นต้น ก็จะมีการลงรายละเอียดมากขึ้นในขั้นตอนนี้
  5. ขั้นกำหนดวัสดุและการตกแต่งภายใน
  6. ขั้นการเขียนแบบโดยละเอียด เป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนส่งงานให้กับเจ้าของบ้านซึ่งเป็นผู้ว่าจ้าง
สำหรับค่าออกแบบบ้านของทางสถาปนิกนั้น ในความเป็นจริงส่วนใหญ่แล้วจะมีการตกลงกันระหว่างผู้จ้างกับผู้รับจ้างแล้วแต่ความพึงพอใจของทั้งสองฝ่ายค่ะ หากแต่ก็มีการกำหนดอัตราว่าจ้างโดยสมาคมสถาปนิกในพระบรมราชูปถัมภ์เช่นกัน โดยสำหรับอาคารประเภทบ้านพักอาศัยนั้น จะคิดเป็นเปอเซ็นต์ตามงบประมาณก่อสร้าง หากบ้านนั้นมีงบประมาณการก่อสร้างไม่เกิน 10 ล้านบาท ก็จะคิดค่าออกแบบ 7.5% ของราคาก่อสร้าง และสำหรับการตกแต่งภายใน หากงบประมาณการก่อสร้างไม่เกิน 10 ล้านบาท ก็จะคิดค่าออกแบบ 10% ของราคาก่อสร้าง เว้นเสียแต่หากงบประมาณการก่อสร้างมากกว่านี้ สัดส่วนของค่าของแบบก็จะน้อยลงด้วยน่ะนะคะ

ในตอนหน้าของบล็อกบ้านสไตล์รีสอร์ฺท เราจะมาดูขั้นตอนของการก่อสร้างบ้านกันต่อค่ะ แล้วกลับมาพบกันได้ใหม่ในครั้งหน้านะคะ




ภาพประกอบจาก   kampungbadran.com/tag/home-designs-floor-plan/





วันอาทิตย์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

บ้านในฝัน


เจ้าของบล็อกชอบ บ้านสไตล์รีสอร์ท ค่ะ และเป็นอีกหนึ่งความใฝ่ฝันว่าอยากจะมีบ้านหลังเล็ก ๆ สไตล์รีสอร์ทเป็นของตัวเองสักหลังหนึ่ง ไม่ต้องหลังใหญ่โตมากนักก็ได้ แต่ต้องมีบริเวณปลูกต้นไม้เยอะๆ มีพื้นที่สำหรับให้หมาแมวสัตว์เลี้ยงแสนรักของตัวเองวิ่งเล่น ซึ่งจริง ๆ แล้วปัจจุบันนี้จำนวนผู้คนที่ืชื่นชอบบ้านสไตล์รีสอร์ทนั้น ก็มีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่บ้านสไตล์รีสอร์ทคือบ้านแบบไหน และเหมาะสำหรับคนในยุคปัจจุบันอย่างไร เรามาศึกษาบ้านหลังนี้ให้ถ้วนถี่กันอีกสักนิดนึงก่อนนะคะ

บ้านสไตล์รีสอร์ท
บ้านสไตล์รีสอร์ท นั้น ก็คือบ้านที่มุ่งเน้นให้ผู้พักหรือผู้อยู่อาศัยได้มีความรู้สึกสงบ ผ่อนคลาย และได้พักผ่อนอย่างเต็มที่โดยไม่ต้องเดินทางไปไหนไกล ๆ ค่ะ จุดเด่นของบ้านนี้ก็คือ การดึงเอาธรรมชาติเข้ามาเป็นตัวช่วยเพิ่มบรรยากาศของบ้าน ไม่ว่าจะเป็นสายลม ต้นไม้ ลำธาร ทะเล ภูเขา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ แม้ว่าจะอยู่ในสังคมเมือง ก็สามารถสร้างสรรค์บรรยากาศได้เช่นกัน

การตกแต่งบ้านสไตล์รีสอร์ท
ลักษณะโดยรวมของบ้านสไตล์รีสอร์ทนั้น ไม่ว่าจะเป็นบ้านหลังเล็ก หรือหลังใหญ่ ก็มักจะแบ่งพื้นที่ไว้สำหรับการจัดสวนไว้มากพอสมควร และยังกันพื้นที่ไว้สำหรับการเดินรอบตัวบ้าน สำหรับตัวบ้านเองนั้น สามารถสร้างได้หลายแบบหลากสไตล์ ไม่ว่าจะเป็นสไตล์โมเดิร์น สไตล์บาหลี หรือสไตล์คันทรี แต่ตัวบ้านต้องมีประตูหน้าต่างที่เป็นกระจกหรือเป็นมุมเปิดขนาดใหญ่ เพื่อให้สามารถมองเห็นทิวทัศน์ความเขียวชอุ่มสวยงามของสวนภายนอกบ้าน อีกทั้งยังเปิดให้แสงสว่างสามารถเข้าถึงได้ทุกพื้นที่


สำหรับบล็อกบ้านสไตล์รีสอร์ทที่เจ้าของบล็อกจัดทำขึ้นนี้ จะเป็นการรวบรวมเอาแบบบ้านสไตล์รีสอร์หลายแบบหลากสไตล์จากทุกมุมโลกมาไว้ด้วยกันค่ะ เพื่อให้เพื่อน ๆ ที่รักบ้านสไตล์รีสอร์ทเช่นกันได้ใช้เป็นไอเดียในการจัดสร้างหรือตกแต่งบ้านของเรา ให้มีสภาพแวดล้อมที่ผ่อนคลาย เหมาะสำหรับอยู่อาศัยอย่างมีความสุข ท่ามกลางบรรยกาศและสภาพแวดล้อมที่สงบ ร่มรื่น ซึ่งจะส่งผลโดยรวมให้จิตใจมีความชื่นบาน โดยไม่ต้องเดินทางไปพักผ่อนที่ไหนไกล ๆ บ้านน่ะนะคะ และก็หวังว่า เืพื่อน ๆ ที่เข้ามาเยี่ยมชมบล็อกนี้จะได้ประโยชน์และไอเดียดี ๆ เพื่อนำไปปรับใช้กับบ้านสไตล์รีสอร์ทที่ทุกคนชื่นชอบได้บ้างไม่มากก็น้อยนะคะ

ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่บล็อกบ้านสไตล์รีสอร์ทอีกครั้งค่ะ :)



mamnaka11@gmail.com 
admin
22/07/2013



 
Design by Free WordPress Themes | Bloggerized by Lasantha - Premium Blogger Themes | Press Release Distribution